เมนู

ธรรมิกวรรคที่ 5


1. นาคสูตร


ว่าด้วยผู้ประเสริฐ


[314] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เวลา
เช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตใน
พระนครสาวัตถี ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว ตรัสเรียกท่าน
พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ มาเถิด เราจักเข้าไปยังปราสาทของมิคารมารดา
ที่บุพพารามวิหาร เพื่อพักผ่อนกลางวัน ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับท่านพระอานนท์ได้เสด็จ
เข้าไปยังปราสาทของมิคารมารดา ที่บุพพารามวิหาร ครั้งนั้น เวลาเย็น พระผู้มี-
พระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์
มาเถิด เราจักไปยังท่าน้ำชื่อบุพพโกฏฐกะ เพื่อสรงน้ำ ท่านพระอานนท์ทูล
รับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับท่านพระ-
อานนท์ได้เสด็จเข้าไปยังท่าน้ำชื่อบุพพโกฏฐกะ เพื่อสรงน้ำ ครั้นสรงแล้ว
เสด็จขึ้นมา ทรงนุ่งอันตรวาสกได้ยืนผึ่งพระวรกายอยู่.
ก็สมัยนั้น พระเศวตกุญชรของพระเจ้าปเสนทิโกศล ขึ้นมาจากท่าน้ำ
ชื่อบุพพโกฏฐกะ เพราะเสียงดนตรีใหญ่ที่เขาตีประโคม ก็มหาชนเห็นช้างนั้น
แล้ว กล่าวชมอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ช้างของพระราชางามยิ่งนัก
ช้างของพระราชาน่าดูนัก ช้างของพระราชาน่าเลื่อมใสนัก ช้างของพระราชา
มีอวัยวะสมบูรณ์.

เมื่อมหาชนกล่าวชมอย่างนี้แล้ว ท่านพระกาฬุทายีได้ทูลถามพระผู้มี-
พระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาชนเห็นช้างเชือกใหญ่ สูง มีอวัยวะ
สมบูรณ์เท่านั้นหรือหนอ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ช้างเป็น
สัตว์ประเสริฐหนอ หรือว่ามหาชนเห็นสัตว์บางอย่างแม้อื่นที่ใหญ่ สูง มี
อวัยวะสมบูรณ์ จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ สัตว์นั้นประเสริฐ
หนอ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนกาฬุทายี มหาชนเห็นช้างเชือกใหญ่
สูงมีอวัยวะสมบูรณ์บ้าง จึงได้กล่าวชมอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ช้างเป็น
สัตว์ประเสริฐหนอ มหาชนเห็นม้าตัวใหญ่ สูงบ้าง โคตัวใหญ่ สูงบ้าง
งูตัวใหญ่ ยาวบ้าง ต้นไม้ใหญ่ สูงบ้าง มนุษย์มีร่างกายใหญ่ สูง มีอวัยวะ
สมบูรณ์บ้าง จึงได้กล่าวชมอย่างนี้ว่า ประเสริฐหนอ ดูก่อนกาฬุทายี อนึ่ง
บุคคลใดไม่ทำความชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในโลกนี้กับทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
เราเรียกบุคคลนั้นว่าผู้ประเสริฐ.
กา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว คือ พระ
ดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยดีดังนี้ว่า ดูก่อนกาฬุทายี อนึ่ง บุคคลใด
ไม่ทำความชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในโลกนี้กับทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เราเรียก
บุคคลนั้นว่าผู้ประเสริฐ.
ท่านพระกาฬุทายีกราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพระ-
องค์ ขออนุโมทนาพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วนี้ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

ข้าพระองค์ได้สดับ จากพระองค์ผู้
เป็นพระอรหันต์ ดังนี้ว่า มนุษย์ทั้งหลาย
ย่อมนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้า พระองค์ใด
ผู้เป็นมนุษย์ทรงฝึกฝนพระองค์แล้ว มีจิต
ตั้งมั่น ดำเนินไปในทางประเสริฐ ทรง
ยินดีในธรรมที่ยังจิตให้เข้าไปสงบ ทรง
ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง แม้เทวดาทั้งหลาย
ก็ย่อมนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้า พระองค์
นั้น ผู้ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง ทรงออก
จากกิเลสเครื่องร้อยรัด ทรงบรรลุธรรม
ที่ไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด ทรงยินดีใน
ธรรมอันเป็นที่ออกไปจากกามทั้งหลาย
คล้ายทองคำที่พ้นแล้วจากหิน ฉะนั้น พระ
องค์เป็นผู้ประเสริฐ รุ่งเรืองล่วงสรรพสัตว์
คล้ายขุนเขาหิมวันต์ สูงกว่าภูเขาศิลาลูก
อื่น ฉะนั้น พระองค์ผู้ทรงนามว่านาคะ
อันเป็นจริงนี้เป็นผู้ยิ่งกว่าเทวดาทั้งปวงผู้มี
นามว่านาคะ ข้าพระองค์จะขี้แจง ซึ่ง
ความที่พระองค์ เป็นผู้เปรียบด้วยช้าง
เพราะพระองค์ไม่ทรงทำความชั่ว มีโสรัจ-
จะและอวิหิงสา เป็นเท้าหน้าทั้งสองของ
พระองค์ ผู้เป็นเพียงดังช้างตัวประเสริฐ
ตบะ และพรหมจรรย์เป็นเท้าหลังทั้งสอง

ของพระองค์ผู้เป็นข้างตัวประเสริฐ พระ
องค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ อย่างยอดเยี่ยม
มีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาอันขาว
มีสติเป็นคอ มีปัญญาเป็นเศียร มีการ
สอดส่องธรรมเป็นปลายงวง มีธรรมเครื่อง
เผากิเลสเป็นท้อง มีวิเวกเป็นหาง พระ
องค์ทรงมีฌาน ทรงยินดีในผลสมาบัติ
เป็นลมหายใจ ทรงมีจิตเข้าไปตั้งมั่นภายใน
ทรงดำเนินไปก็มีจิตตั้งมั่น ทรงยืนอยู่
ก็มีจิตตั้งมั่น ทรงบรรทมก็มีจิตตั้งมั่น
แม้ประทับนั่งก็มีจิตตั้งมั่น ทรงสำรวมแล้ว
ในทวารทั้งปวง นี้เป็นสมบัติของพระองค์
ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ พระองค์ผู้เป็นช้าง
ตัวประเสริฐย่อมเสวยสิ่งที่ไม่มีโทษ ไม่
เสวยสิ่งที่มีโทษ ได้อาหารและเครื่องนุ่ง
ห่มแล้ว ทรงเว้นการสะสม ทรงตัด
สังโยชน์น้อยใหญ่ ทรงตัดเครื่องผูกพัน
ทั้งปวง จะเสด็จไปทางใด ๆ ก็ไม่มีห่วง
ใยเสด็จไป ดอกบัวชื่อบุณฑริก มีกลิ่น
หอม น่ารื่นรมย์ใจ เกิดในน้ำ เจริญใน
น้ำ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ แม้ฉันใด
พระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ ก็ฉันนั้น
ทรงอุบัติขึ้นมาดีแล้วในโลก ก็ทรงเบิก

บานอยู่ในโลก อันตัณหา มานะ ทิฏฐิไม่
ฉาบทาพระองค์ให้ติดอยู่กับโลก เหมือน
ดอกปทุมไม่เปียกน้ำ ฉะนั้น ไฟกอง
ใหญ่ลุกรุ่งโรจน์ ย่อมดับเพราะหมดเชื้อ
ฉันใด พระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ
ก็ฉันนั้น คือ เมื่อสังขารทั้งหลายสงบ
แล้ว ก็เรียกกันว่าเสด็จนิพพานข้ออุปมา
ที่ให้รู้เนื้อความแจ้งชัดนี้ อันวิญญูชนทั้ง
หลายแสดงไว้แล้ว พระอรหันต์ผู้เป็นช้าง
ตัวประเสริฐอย่างยอดเยี่ยมทั้งหลาย ย่อม
รู้แจ้งชัดซึ่งพระองค์ผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ
ซึ่งพระกาฬุทายีผู้เป็นช้างตัวประเสริฐ
แสดงไว้แล้ว พระองค์ผู้เป็นช้างตัว
ประเสริฐ ทรงปราศจากราคะ ทรง-
ปราศจากโทสะ ทรงปราศจากโมหะ ทรง
หาอาสวกิเลสมิได้ เมื่อทรงละสรีระ ก็
ทรงหาอาสวกิเลสมิได้ จักเสด็จปรินิพพาน.

จบนาคสูตรที่ 1

ธรรมิกวรรควรรณนาที่ 5


อรรถกถานาคสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในนาคสูตรที่ 1 แห่งธรรมิกวรรคที่ 5 ดังต่อ
ไปนี้ :-
คำว่า อายสฺมตา อานนฺเทน สทธึ นี้ พระสังคีติกาจารย์กล่าวไว้
เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระเถระว่า อานนท์ เรามาไปกันเถิด ดังนี้
แล้วเสด็จไป. ฝ่ายพระศาสดาบัณฑิตพึงทราบว่า อันภิกษุ 500 รูปเหล่านั้น
นั่นแหละ แวดล้อมแล้วได้เสด็จไปที่บุพพารามนั้น.
บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้า) อันภิกษุ
500 รูปเหล่านั้นนั่นแล แวดล้อมแล้วเสด็จเข้าไป. บทว่า ปริสิญฺจิตฺวา นี้
เป็นคำโวหาร หมายความว่า ทรงสรงสนานแล้ว.
บทว่า ปุพฺพสทิสานิ กุรุมาโน ความว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้า)
ทรงนุ่งผ้าสองชั้นที่ย้อมแล้ว ทรงถือเอาผ้าอุตราสงค์ด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง
ประทับยืนผินพระปฤษฏางค์ให้โลกธาตุด้านทิศตะวันตก ผินพระพักตร์ให้โลก-
ธาตุด้านทิศตะวันออก ทำพระวรกายให้แห้ง เหมือนก่อนโดยปราศจากน้ำ.
ฝ่ายภิกษุสงฆ์ลงตามที่นั้น ๆ อาบน้ำแล้วได้ขึ้นมายืนล้อมพระศาสดา
อย่างพร้อมพรัก สมัยนั้น พระอาทิตย์โคจรคล้อยต่ำลงไปทางโลกธาตุด้าน
ทิศตะวันตก คล้ายตุ้มหูทองแดงผสมทองคำ กำลังจะล่วงหล่นจากอากาศ
ฉะนั้น. ทางด้านโลกธาตุทางทิศตะวันออก พระจันทร์ เหมือนมณฑลแห่ง
เงินที่บริสุทธิ์ ฉะนั้น.